TOP

‘ซีพีเอฟ’ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

“การประหยัดพลังงาน” เป็นวาระที่หลายๆ องค์กรต่างให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่อย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เพิ่งจะฉลองครบรอบ 60 ปีไปหมาดๆ ที่ได้ดำเนินโครงการประหยัดพลังงานมานานถึง 10 ปี และกำลังพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการวางระบบการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่องค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด “ซีพีเอฟ” ยังได้เริ่มโครงการนำร่องไปสู่การประหยัดพลังงานตาม “มาตรฐานอาเซียน” กับกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่อยู่ภายใต้การบริหารของซีพีเอฟเอง และแน่นอนว่ามีโอกาสขยายองค์ความรู้เหล่านั้นไปสู่เครือข่ายในธุรกิจเกษตร และอาหารอีกในอนาคต ตอกย้ำความสำเร็จในฐานะผู้นำด้านประหยัดพลังงานระดับอาเซียน

 

10ปีลดใช้พลังงานพันล้าน

 

นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ จากสำนักความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรมความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการเรื่องประหยัดพลังงานมานานตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ด้วยหลายปัจจัยที่เป็นตัวผลักดัน เรื่องแรกๆ คือต้นทุนที่แพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น และหายากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญเป็นลำดับต้น ถัดมาคือการที่เราได้ยินคำที่เป็นกระแสโลก เช่น โลกร้อน และคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ เป็นต้น ทำให้เราจะต้องพัฒนาตนเอง และปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลก

นอกจากนี้ เริ่มมีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องพลังงานออกมาบังคับใช้ในประเทศไทย เช่น จากกระทรวงพลังงาน เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด ให้คุ้มค่าและมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน เริ่มมีข้อกำหนดของลูกค้า สอบถามความคืบหน้าเรื่องการประหยัดพลังงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องและสุดท้าย คือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ซีพีเอฟจะต้องคำนึงถึง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย

ในเรื่องความมั่นด้านพลังงาน เราทำมานาน ซึ่งมี 5-6 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการใช้พลังงานที่มีความหลากหลาย ซึ่งซีพีเอฟใช้พลังงานอยู่มากถึง 17 ชนิด ทั้งไฟฟ้า พลังงานใช้แล้วหมดไป และพลังงานใช้แล้วไม่หมดไป(พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน) โดยโครงสร้างการใช้พลังงานของบริษัท ล่าสุดเป็นดังนี้ ไฟฟ้า 48% อีก 30% เป็นเรื่องพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และอีก 22% คือพลังงานที่สามารถหามาได้ เช่น ซังข้าวโพด เศษไม้ แกลบ กะลาปาล์ม และของเหลือจากอุตสาหกรรมการเกษตร หรือภาคเกษตรกรรม

“เท่าที่ผมรับทราบมา การใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปสัดส่วน 22% น่าจะเป็นตัวเลขที่เยอะที่สุดของหน่วยงานในประเทศไทย ซึ่งนี่เป็นตัวเลขของปีที่แล้ว และปีนี้ก็น่าจะเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่เรามีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปอีก โดยความมั่นคงทางพลังงานนั้นเราจะต้องใช้พลังงานที่มีความหลากหลาย แหล่งที่มาต้องมีความมั่นคงและเพียงพอไม่ฉาบฉวย ราคามีความผันแปรค่อนข้างน้อย และพยายามหาพลังงานของตัวเอง เช่น ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั้งหมด มีการนำน้ำเสียมาทำเป็นไบโอแก๊ส และเราได้เริ่มก้าวไปสู่การใช้โซลาร์เซลล์อีกด้วย” นายจารุบุตร กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการด้านประหยัดพลังงานตั้งแต่ปี 2547-2555 ซีพีเอฟ ช่วยชาติประหยัดพลังงาน คิดเป็นเม็ดเงินสะสมแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท จากโครงการประหยัดพลังงานกว่า 200 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟยังต้องค้นคว้าหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่เรื่องการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่มาตรฐานระดับ “เออีซี” คือพยายามหาเครื่องมือในการพัฒนาการประหยัดพลังงานด้วยจัดทำเป็นระบบ ให้เป็นระบบการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน นับเป็น “เชนจ์” หรือ “การเปลี่ยนแปลง” ครั้งสำคัญของซีพีเอฟ โดยการจัดทำเป็นแผนการประหยัดพลังงานไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

Comments are closed.